ข่าวสารและสื่อ

อัปเดตข่าวสารจากสื่อหลากหลายช่องทาง ล่าสุดได้ที่นี่

แสนสิริ และพันธมิตรทางธุรกิจก่อสร้าง สร้างศูนย์การเรียนรู้ “GREEN HOPE”จุดประกายแนวทางจัดการ เศษวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการก่อสร้าง

จากประสบการณ์กว่า 30ปีของแสนสิริในการพัฒนาที่อยู่อาศัย จนได้รับการยอมรับในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่น่าเลือกใช้บริการ (Most Admired Brand) จากผลการสำรวจของนิตยสารการตลาดชั้นนำของเมืองไทยอย่าง “แบรนด์เอจ” และ “เดอะ คอมพานี” ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แสนสิริได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่มีความเหมาะสมด้านราคา และมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการออกแบบตกแต่งที่สวยงาม และการส่งมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ดีแก่ครอบครัวแสนสิริทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแสนสิริ  แต่สิ่งหนึ่งที่แสนสิริให้ความสำคัญกลับไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่นั่นคือการศึกษาหาแนวทางการจัดการเศษวัสดุที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามหน้าที่เดิมจากกระบวนการก่อสร้าง ผ่านนวัตกรรมใหม่ให้ได้คุณภาพ และมาตรฐาน จนกลายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน
 
 
จากกรอบแนวคิดดังกล่าว ทีม Sansiri Design Solution Department (DSD) จากแสนสิริ จึงร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจก่อสร้าง จุดประกายศึกษาแนวทางการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการก่อสร้างเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อย่างจริงจัง เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้น้อยที่สุด โดย บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจก่อสร้างและผู้ประกอบการในภาคโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำการค้นคว้า ทดลอง แปรรูป เศษวัสดุเหลือใช้ แบบ Upcycling  โดยใช้นวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผนวกกับแนวคิดในการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของแสนสิริ เปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้จริง มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อต่อยอดองค์ความรู้สู่สังคมในวงกว้างให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กิจกรรมเพื่อสังคมของแสนสิริ หรือ Sansiri Social Change ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาเด็กและเยาวชน และสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนำแนวคิดเรื่องการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการก่อสร้างในโครงการของแสนสิริ มาออกแบบและสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ GREEN HOPE” แบบถาวร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในแนวคิดการรับผิดชอบต่อสังคมของแสนสิริเช่นกัน”
 
สำหรับโครงการ GREEN HOPE เป็นอาคารห้องสมุดอเนกประสงค์  2 ชั้น ที่ใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชน และคนในชุมชนอินทร์อุดมพัฒนา ซอยติวานนท์ 45 จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับหลายโครงการของแสนสิริ (ได้แก่ โครงการสราญสิริ ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ 1 และ 2, โครงการเศรษฐสิริ แจ้งวัฒนะ-ประชาชื่น, โครงการเศรษฐสิริ ชัยพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ, โครงการฮาบิทาวน์ โฟลด์ ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ, โครงการ เดอะ เบส แจ้งวัฒนะ  เป็นต้น) โดยชุมชนอินทร์อุดมพัฒนาเป็นหนึ่งในชุมชนที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด “บ้านมั่นคง” ภายใต้การดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ประกอบไปด้วย เด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 5 -18 ปี จำนวน 140 คน และ ผู้ใหญ่ จำนวน 700 คน รวมทั้งหมด 152 ครัวเรือน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ต่ำที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แสนสิริได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับคนในชุมชม สำรวจ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ เพื่อเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โดยการร่วมคิด ร่วมทำ รวมพลังของชุมชน  เปลี่ยนพื้นที่ปลูกผักสวนครัวของชุมชน ให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ GREEN HOPE” โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางธุรกิจก่อสร้างของแสนสิริทั้ง 9 ราย ได้แก่ บริษัท เฟรมเทค วินโดว์ แอนด์ ดอร์ จำกัด, บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด, บริษัท เบเยอร์ จำกัด, บริษัท คอนวูด จำกัด,  บริษัท ฟลอไรเดอร์ จำกัด, บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด, บริษัท สยาม พลาสวูด จำกัด, บริษัท นิป ปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมมือกันนำวัสดุเหลือใช้ มาช่วยกันติดตั้งและตกแต่งอาคาร โดยมีอาสาสมัครจากแต่ละพันธมิตรทุ่มเทแรงกายร่วมลงมือทำอย่างจริงจัง

ศูนย์การเรียนรู้ GREEN HOPE
 


 
 

 
 

 
 

 
 

 
สำหรับด้านการออกแบบ และก่อสร้าง แสนสิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทีม Sansiri Design Solution Department (DSD) เริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลของเศษวัสดุเหลือใช้ที่เกิดจากการก่อสร้างบ้านพักอาศัยและอาคารสูงในโครงการของแสนสิริ โดยแยกประเภทของเศษของเศษวัสดุเหลือใช้ออกเป็น เศษผ้าที่เหลือการจากการทำผ้าม่านบุโซฟา เศษไม้จากงานวงกบ ประตู หน้าต่าง และบันได เศษกระจกที่เหลือจากการคัดมาตรฐานคุณภาพเศษเหล็กจากเหล็กโครงสร้างและโครงหลังคา อิฐมวลเบาจากงานก่อผนัง  และนำมาศึกษาลักษณะและวิเคราะห์คุณสมบัติที่แตกต่าง ซึ่งนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงเศษวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามหน้าที่เดิมให้นำกลับมาใช้ได้ใหม่ และเกิดเป็นองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรมในสังคม โดยจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปให้ชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้รอบตัว โดยดึงองค์ความรู้จากนักออกแบบ  นักประดิษฐ์ นักคิดจากหลากหลายสาขา อาสาสมัครจากเครือข่ายต่างๆ เช่น กลุ่มนักคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคม CreativeMOVE (ครีเอทีฟ มูฟ) รวมถึงพนักงานของแสนสิริ มาสอนวิธีการคิดเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน โดยการออกแบบในเชิงสร้างสรรค์ พัฒนา ประดิษฐ์ และเพิ่มประโยชน์ใช้สอย ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้งานได้จริง เช่น  เศษผ้าม่าน เศษผ้าบุโซฟา รวมถึงป้ายโฆษณา ไวนิลแสนสิริที่ไม่ใช้แล้ว นำมาดีไซน์ใหม่ และตัดเย็บโดยฝีมือจากคนในชุมชน กลายเป็น เก้าอี้ Bean Bag สีสันสดใส, บานประตูไม้ที่เหลือจากการคัดมาตรฐานคุณภาพและยางล้อรถยนต์ในชุมชน นำมาทาสีและประกอบเข้ากัน กลายเป็นโต๊ะอ่านหนังสือดีไซน์ทันสมัย, ไม้บันไดเหลือใช้นำมาทาสี ร้อยเข้ากับเชือกกระสอบผูกติดกับคานของตึก กลายเป็นชิงช้าให้เด็กๆได้เล่นสนุกใต้ตึก ทำให้เยาวชนและคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคิด วางแผน พร้อมจุดประกายให้ทุกคนลงมือปฏิบัติจริง เรียนรู้ขั้นตอนการแปรรูปเศษวัสดุเหลือใช้ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนด้วย” 
 
ทั้งนี้ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ GREEN HOPE ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อหนังสือเสริมความรู้จากมูลนิธิเสริมกล้าเป็นจำนวน 276 เล่มให้แก่ห้องสมุดของศูนย์การเรียนรู้ GREEN HOPE ภายใต้คำแนะนำจากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (Thailand Knowledge Park) รวมถึงการรับบริจาคหนังสือจากพนักงานแสนสิริเพิ่มเติม เพื่อปลูกฝังทัศนคติและนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กเยาวชนและคนในชุมชน 
 
ซึ่งแสนสิริหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุมชนอินทร์อุดมพัฒนา จะเป็นชุมชนต้นแบบที่นำองค์ความรู้เรื่องการเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ที่ได้จากกิจกรรมเวิร์คช้อป ไปพัฒนามุมมองการใช้ชีวิต สร้างความตระหนักแก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไปพร้อมกับการสร้างรายได้อย่างสร้างสรรค์จากเศษวัสดุเหลือใช้รอบตัว ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีกว่าเดิม ทำให้ชุมชนมีโอกาสก้าวหน้าและแข็งแรง ผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป